คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 20 กันยายน 2560

โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่เล็บ (Nail psoriasis) สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่เล็บมือและเล็บเท้า มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ เช่นมีจุดสีน้ำตาลใต้เล็บ เล็บขรุขระ เล็บเป็นหลุม เล็บแยกตัวออกจากเนื้อใต้เล็บ (Onycholysis) ผิวใต้เล็บหนา (Subungual keratosis) มักเกิดร่วมกับเนื้อเยื่อของเล็บอักเสบ (Paronychia) ในรายที่เป็นรุนแรงเนื้อเล็บจะเปื่อยยุ่ย ถูกทำลาย

ผู้ป่วยชายโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา (Plaque psoriasis) จำนวนหนึ่งจะมีอาการบริเวณอวัยวะเพศอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีอาการเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศเท่านั้น บริเวณที่มีอาการคือลูกอัณฑะหรือองคชาต บริเวณอวัยวะเพศของโรคสะเก็ดเงินไม่ค่อยพบปื้นหนาสีเงินที่ยกสูงขึ้นและมีขอบเขตชัดเจน แต่จะไม่ค่อยมีขุยและแบนราบสีแดง

อาคารคันพบบ่อยในโรคสะเก็ดเงิน แต่โดยทั่วไปอาการคันไม่รุนแรง โรคสะเก็ดเงินบริเวณอวัยวะเพศมักจะได้รับการวินิจฉัยทางคลินิก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีโรคผิวหนังสะเก็ดเงินนอกบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย เมื่อมีการตรวจบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า เล็บ สะดือ และรอยพับ ถ้าไม่พบแผลลักษณะของโรคสะเก็ดเงิน การตัดชิ้นเนื้อมีความจำเป็นในการยืนยันการวินิจฉัย

การรักษาและผลการรักษา
การรักษาหลักของโรคสะเก็ดเงินบริเวณองคชาตคือการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดทาภายนอกเฉพาะที่และมีความแรงต่ำถึงปานกลาง อย่างไรก็ตามการใช้ยาทาเฉพาะที่ชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานาน อาจมีผลข้างเคียงทำให้บริเวณที่ทามีอาการฝ่อและอาจทำให้ต้องจำกัดบริเวณที่จะทาโดยเฉพาะบริเวณลำตัว

ในรายที่ผู้ป่วยมีอาการโรคสะเก็ดเงินเป็นมากขึ้น อาจหลีกเลี่ยงการใช้ครีมสเตียรอยด์ และมีการใช้ยาทาภายนอกเฉพาะที่ชนิดอื่น ๆ เช่น ครีมแคลซิโปทรีน (Calcipotriene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินดี ยาทาซาโรทีน (Tazarotene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์) เป็นต้น แต่ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ระคายเคือง จึงมีข้อจำกัดการใช้ในบริเวณอวัยวะเพศ ยาเหล่านี้อาจใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ เช่นยาทาเฉพาะที่ชนิด คอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต เพื่อลดผลข้างเคียง

ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน การใช้ยาทาภายนอกเฉพาะที่จะมีประสิทธิภาพในการลดอาการและอาการแสดงของโรคสะเก็ดเงินของอวัยวะเพศ

สำหรับยาชนิดกิน เช่น การให้กินยากลุ่มเรตินอยด์ เมโทเทรกเซท (Methotrexate) การให้กินยาโซลาเรน (Psoralen) ร่วมกับการฉายแสงอัลตรา ไวโอเลตเอ หรือไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ที่เป็นยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย มักสงวนไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือดื้อต่อการรักษา การรักษาด้วยยาเหล่านี้ควรให้แพทย์เป็นผู้ดูแลในการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลข้างเคียงและข้อควรระวังของยาแต่ละชนิดแตกต่างกันไป

โดยทั่วไปผลการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ส่วนใหญ่ได้ผลดี อย่างไรก็ตามโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้รับหรือไม่ได้รับการรักษา และมักมีระยะเวลาที่โรคกำเริบหรืออาจมีระยะสงบจากอาการนานเป็นปี ๆ นอกจากนี้อาจพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย อาจมีผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงจากโรคสะเก็ดเงิน และแพทย์อาจคาดการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรครุนแรงขึ้นเช่น ภาวะความเครียด ควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานยาบางชนิด พยายามดูแลผิวหนังไม่ให้บาดเจ็บจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเหมาะสม.

..............................................
ศ.นท.ดร.สมพล เพิ่งพงศ์โกศล