คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 16 พฤษภาคม 2561

กิจกรรมทางเพศและโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจเฉพาะ

โรคหัวใจขาดเลือดแบบเสถียรหรือคงที่ (Stable Ischemic Heart Disease) ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่มีเสถียรภาพ ควรได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนที่จะเริ่มต้นหรือดำเนินกิจกรรมทางเพศอีกครั้ง ผู้ป่วยที่อาการเจ็บเค้นหัวใจ (angina) ชนิดคงที่และไม่รุนแรง ถูกพิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งมีอาการเจ็บเค้นหัวใจชนิดไม่คงที่คือไม่เสถียรหรือดื้อต่อการรักษา ควรได้รับการพิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูงของโรคหลอดเลือดหัวใจ

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่ามีอาการเจ็บเค้นหัวใจหรือไม่สามารถระบุความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้ในระหว่างการประเมินครั้งแรก อาจต้องพิจารณาให้ได้รับการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) เพราะอาจช่วยให้ทราบถึง 1.ความอดทนและความสามารถในการออกกำลังกาย 2.อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการออกแรงมากน้อยเพียงใด และ 3.สามารถประเมินความรุนแรงของภาวะหัวใจขาดเลือดในขณะทำกิจกรรมทั่วไป

ผู้ป่วยซึ่งมีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจตาย (MI) ก่อนหน้านี้ และไม่มีอาการแสดงของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลังจากการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Ex ercise Stress Test) หรือผู้ซึ่งได้รับการรักษาขยายหลอดเลือดหัวใจ (coronary revascu larization) แล้ว ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำในการมีเพศสัมพันธ์ ก่อนการรักษาเพื่อให้หลอดเลือดเปิด (reperfusion therapy)ปกติทั่วไป ควรได้รับการแนะนำให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 6 ถึง 8 สัปดาห์หลังเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในปี พ.ศ. 2548 ของการประชุม ณ เมืองพรินซ์ตัน (Princeton Conference) ประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลังการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจ (coronary revascularization) และประสบความสำเร็จในการผ่าตัดหรือมีการทดสอบแบบลู่วิ่ง (เช่น 3-5 METS) โดยปราศจากภาวะหัวใจขาดเลือดสามารถกลับมาทำกิจกรรมทางเพศได้ภายใน 3 ถึง 4 สัปดาห์หลังจากมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย

ในทางตรงกันข้าม ในปี พ.ศ. 2547 “แนวทางปฏิบัติสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายและมีคลื่นหัวใจผิดปกติ (ST-elevation Myocardial Infarction ; ACC /AHA)” ยอมรับหรืออนุญาตให้มีกิจกรรมทางเพศภายใน 1 สัปดาห์หลังจากมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายในผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ดีแล้ว เนื่องจากมีรายงานว่าผู้ป่วยที่มีอาการคงที่และร่วมในโปรแกรมการออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ 1 สัปดาห์หลังจากมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย ได้พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย การกลับมามีกิจกรรมทางเพศอีกครั้งหลังจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบไม่ซับซ้อนมีความสมเหตุสมผลในผู้ป่วยเจ็บหน้าอกที่มีความเสถียรซึ่งไม่มีอาการใด ๆ หลังมีการออกกำลังกายน้อยถึงปานกลาง (3–5 METS).

......................................................
ศ.นท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล