คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 20 กันยายน 2561

สวัสดีครับคุณหมอ ดร.โอ ที่เคารพ
ผมอายุ 75 ปี ก็ยังชอบเล่นกีฬาหลายอย่างโดยเฉพาะตีกอล์ฟ ทุกวันกล้ามเนื้อก็ยังแข็งแรงดีอยู่ แม้ว่าผมจะป่วยเป็นเบาหวานมาเกือบ 20 ปีก็ตาม ผมพยายามคุมอาหารพวกแป้ง และของที่มีรสหวานมาโดยตลอด เจาะเลือดล่าสุดระดับน้ำตาลน้อยกว่า 100 แพทย์บอกว่าคุมน้ำตาลได้ดี สำหรับความดัน ตรวจวัดเป็นประจำค่าออกมาเป็นปกติ รวมทั้งการตรวจวัดความแข็งแรงของหัวใจก็ปกติ เรื่องทางสุขภาพร่างกายไม่มีอะไรที่ต้องเป็นกังวลหนักใจ แต่ในเรื่องสุขภาพทางเพศมีปัญหา ผมเริ่มมีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวเต็มที่มาประมาณ 5 ปีแล้ว อาการไม่หนักมากคือบางครั้งก็แข็งตัวได้เอง บางครั้งแข็งตัวแล้วก็อ่อนตัวลงเร็ว แต่พอได้รับการกระตุ้นเล้าโลมก็กลับมาแข็งตัวได้อีก เป็นอย่างนี้เรื่อยมาต้องใช้ยาเฉพาะกิจมากินเสริมร่วมด้วยเป็นบางครั้ง ผมเริ่มใช้ยาเฉพาะกิจมาได้ปีกว่าแล้ว ช่วงแรก 1 เม็ดแบ่งเป็น 4 ส่วน กินทีละส่วนต่อการมีความสุขแต่ละครั้งได้ผลดี มาถึงวันนี้กินทั้งเม็ดก็ยังไม่แข็งตัว แม้ว่าจะเล้าโลมกระตุ้นช่วยก็ตาม ลองกินยาตัวใหม่ที่ใคร ๆ แนะนำก็ไม่ได้ผลเหมือนเดิม ผมจึงอยากเรียนปรึกษาคุณหมอว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และจะแก้ไขได้บ้างไหมครับ
 
ด้วยความเคารพ
ม.ป.ป.75

ตอบ ม.ป.ป.75
ชายวัย 75 ปี ป่วยเป็นเบาหวาน แล้วเกิดอาการอีดี อวัยวะเพศแข็งตัวไม่เต็มที่แก้ปัญหาด้วยการกินยาเฉพาะกิจช่วงแรกได้ผลดี อวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่หลังจากนั้นแม้จะกินยาทั้งเม็ดหรือเปลี่ยนชนิดของยาอวัยวะเพศก็ไม่ยอมแข็งตัว อาการแบบนี้เรียกว่าดื้อต่อยาเฉพาะกิจ ซึ่งประสิทธิภาพของยาเฉพาะกิจ มักจะแตกต่างกันไป ตามสาเหตุของอาการอีดี จากสหรัฐรายงานการศึกษาประสิทธิภาพของยาเฉพาะกิจในคนไข้อีดี แบ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศชายเทสโตสเตอโรนต่ำ 77 คน ความดันเลือดสูง 61 คน ภาวะโปรแลคติน สูงผิดปกติ 4 คน เบาหวาน 48 คน โรคซึมเศร้า 21 คน ผ่าตัดต่อมลูกหมาก 12 คน ฉายรังสีรักษามะเร็งลูกหมาก 8 คน รักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธีลดฮอร์โมนแอนโดรเจน 3 คน ผ่าตัดมะเร็งทวารหนัก หรือกระเพาะปัสสาวะ 7 คน บาดเจ็บที่ไขสันหลัง 2 คน และหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท 6 คน พบว่า ประสิทธิภาพของยา คิดเป็น 86.2% ของคนไข้ที่เป็นความดันเลือดสูง 68.7% ในคนไข้เบาหวาน 85.7% ในคนไข้ซึมเศร้า 16.6% ในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก และ 87.5% ในคนไข้ที่ได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่าคนไข้ที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำ 15 คน ไม่ค่อยสนองต่อยาเฉพาะกิจจึงได้ให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนพบว่า 11 คน หรือ 73.3% ในกลุ่มนี้ตอบสนองต่อยา

จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรักษาผู้ป่วยอีดีที่เป็นโรคดังกล่าวด้วยยากลุ่มพีดีอี 5 ไอ นั้นการรักษาอาจไม่ได้ผล การรักษาอาการอีดีจึงต้องอาศัยหลายวิธีร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการบริหารกล้ามเนื้อเพศ ใช้คลื่นเสียงความถี่เพื่อเพิ่มการสร้างเส้นเลือดใหม่ในองคชาต เพื่อให้มีการเพิ่มออกซิเจนแก่กล้ามเนื้อเพศ แต่การที่จะเลือกวิธีไหนนั้นจะต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อนเสมอ ดูระดับฮอร์โมนเพศชายควบคู่กับดูค่าพีเอสเอ นอกจากนี้ประวัติการรักษาโรคประจำตัวของคนไข้ก็สำคัญ ฉะนั้นการฟื้นฟูอาการอีดีที่มีประสิทธิภาพและลดอาการดื้อยานั้นคุณจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากแพทย์โดยตรงเท่านั้น.

............................
ดร.โอ สุขุมวิท 51