คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 4 พฤศจิกายน 2561

เรียน คุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ

ผมตอนนี้อายุ 52 ปี ส่วนภรรยายังสาวอยู่ อายุห่างกัน 10 ปี เราทั้งสองมีชีวิตครอบครัวสุขสบายตามสมควร ไม่ต้องทุกข์ร้อนในเรื่องการทำมาหากิน ความสุขในการมีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง มาโดยตลอด นับตั้งแต่แต่งงานด้วยกันมา จนมาเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมมีความรู้สึกว่าความต้องการทางเพศที่เคยมีเริ่มลดลง จากที่เคยเป็นฝ่ายรุกก่อน กลายมาเป็นภรรยาที่เริ่มต้นก่อน และอวัยวะเพศก็ไม่ค่อยจะแข็งตัว บางครั้งต้องใช้เวลานานกว่าจะปลุกเร้าได้ ทำให้ผมเกิดความกังวลและไม่มั่นใจในตัวเอง ที่ไม่สามารถให้ความสุขกับภรรยาได้เหมือนก่อน ซึ่งเธอยังมีความต้องการอย่างเต็มที่ทั้งสาวและสวยด้วย ผมกลัวว่าภรรยาจะเบื่อหน่าย ผมอยากทราบว่าอาการดังกล่าวของผมเกิดมาจากสาเหตุใด มีหนทางที่จะแก้ไขได้ไหม หรือมีสาเหตุมาจากการที่ผมมีอายุมากขึ้นใช่ไหม ขอคำอธิบายจากคุณหมอด้วยครับ

ด้วยความนับถือ

ฏ.ฑ.52

ตอบ ฏ.ฑ.52

ชายวัยกลางคนมีภรรยาอ่อนกว่า 10 ปี ต้องระวังสุขภาพทางเพศต้องสมดุลให้ได้ คุณทำถูกแล้วที่ตื่นตัวก่อนจะเกิดปัญหาใหญ่ จากอาการของชายวัย 50 ปีที่เล่ามาข้างต้นเป็นอาการของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ผู้ชายเมื่อย่างเข้าสู่วัย 40 ปี ระดับฮอร์โมนเพศชายจะลดลงประมาณปีละ 1% และเมื่อผู้ชายอายุ 65 ปีพบระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำกว่าในวัยหนุ่ม ถึง 25% การลดลงของระดับฮอร์โมนเพศชายส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากอัณฑะซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศทำงานลดลง นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศชายอิสระยังถูกโปรตีนในกระแสเลือดจับเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีฮอร์โมนเพศที่ทำงานได้น้อยลง ผลที่ตามมาคือมีความรู้สึกและความต้องการทางเพศลดลง ไม่มีอารมณ์เพศ เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือแข็งตัวไม่นานพอที่จะทำกิจกรรมทางเพศได้ บางรายอาจไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ ในเรื่องอวัยวะเพศไม่ค่อยแข็งตัวในปัจจุบันมียารับประทานหลายตัว ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยในเรื่องการขยายหลอดเลือด ช่วยให้เลือดไหลเข้าองคชาตได้ดีขึ้น ทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศเต็มที่ แต่การใช้ยารับประทานดังกล่าวจะต้องได้รับการกระตุ้นทางเพศที่เพียงพอ ซึ่งการทำงานของยาอาจไม่เต็มที่ ในกลุ่มชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ คือกินไปแล้วการแข็งตัวก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีอารมณ์ทางเพศร่วม

การรักษาอาการอีดีในผู้ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายนั้นจะต้องได้รับการเสริมฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย การรักษาจึงจะได้ผล ซึ่งขณะนี้ก็มีฮอร์โมนทดแทนเสริมซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายให้สูงขึ้น เมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้นแล้ว อารมณ์หรือความต้องการทางเพศก็จะดีขึ้นด้วย การได้รับการเสริมฮอร์โมนเพศชายนอกจากจะช่วยในเรื่องความต้องการทางเพศและอารมณ์ทางเพศแล้ว ยังช่วยในเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น ช่วยชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ การเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ การสูญเสียมวลกระดูก การเหี่ยวย่นของผิวหนัง ได้อีกด้วย จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการเสริมฮอร์โมนเพศชายจะสามารถช่วยในเรื่องสุขภาพทางกาย จิตใจและสุขภาพทางเพศแข็งแรงอีกด้วย.

---------------------------------------
ดร.โอ สุขุมวิท 51.