คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 13 พฤศจิกายน 2561

เรียน คุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ
ผมอายุ 48 ปี ภรรยาอายุ 45 ปี เราอยู่ด้วยกันมานานกว่า 10 ปี แต่ยังไม่มีบุตรด้วยกัน สภาพร่างกายโดยทั่วไปปกติ เบาหวานไม่มี ความดันโลหิตและไขมันในเลือดทุกอย่างปกติหมด แต่ผมมีปัญหาทางด้านจิตใจคือ ผมป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาประมาณ 2 ปีแล้ว ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด ภรรยาก็มาอยู่ดูแลเฝ้าไข้ให้กำลังใจเป็นอย่างดี ไม่ห่างเหินแม้ว่าผมจะให้ความสุขทางเพศกับเธอไม่ได้เพราะอวัยวะสำคัญไม่ยอมแข็งตัวเลย ตัวผมเองก็มีความต้องการทางเพศและเธอก็ต้องการด้วย เป็นเช่นนี้มานานหลายเดือนแล้ว ในส่วนลึกของหัวใจผมสงสารเธอมากเฝ้าดูแลเอาใจใส่ผมเป็นอย่างดี คำถามของผมก็คือว่า ภาวการณ์ไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศอันเนื่องมาจากอาการซึมเศร้าของผมที่เป็นอยู่นี้จะสามารถรักษาได้บ้างไหม ผมอยากให้ความสุขกับภรรยาของผมบ้าง จะมีหนทางใดบ้างไหมครับคุณหมอ
 
ด้วยความนับถือ
ฌ.ม.48

ตอบ ฌ.ม.48
โรคซึมเศร้าเป็นการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด อาจจะเกิดในคนที่มีโรคประจำตัวหรือเกิดในคนปกติทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะทำให้การดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงเกิดความเจ็บปวดทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่าอาการอีดีนั้นสามารถเกิดได้ทั้งทางจิตใจและทางกาย ซึ่งสาเหตุส่วนน้อยจะมาจากจิตใจ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า รวมไปถึงยาที่ใช้รักษาอาการทางจิตใจก็สามารถทำให้เกิดอาการอีดีได้ทั้งสิ้น การฟื้นฟูอาการอีดีในผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั้นก็เหมือนกับอาการอีดีจากโรคทางกาย สามารถใช้ยากินกลุ่มพีดีอี 5 ไอ ช่วยให้เกิดการแข็งตัวที่ดีตามมา ซึ่งจากการศึกษาใช้ยากินกลุ่มพีดีอี 5ไอ ชนิดทาดาลาฟิล (Tadalafil) ในชายอีดีที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการร่วมเพศมาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ชายกลุ่มนี้มีทั้งอายุมาก และมีโรคประจำตัวมากมาย มีคะแนนไอไออีเอฟที่ต่ำมาก พบว่า 18% ของชายกลุ่มนี้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างน่าพอใจอย่างน้อย 1 ครั้งหลังการรักษา แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูอาการอีดีด้วยวิธีใดก็ตามในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าควรได้รับการออกกำลังกายควบคู่กันไป อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิก

มีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้เพราะสามารถเพิ่มระดับสารเคมีในสมองที่ชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) ได้เช่นกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอน
ดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งก็คือสารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ระงับปวดคล้ายกับมอร์ฟิน ทำให้คนเราอารมณ์ดีขึ้นซึ่งงานวิจัยดังกล่าวยืนยันว่า การออกกำลังกายที่จะมีผลต่อการรักษาโรคได้นั้น จะต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 10 วันขึ้นไป เพื่อให้ร่างกายสามารถเพิ่มระดับเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองตัวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า สามารถลดระดับอาการโรคซึมเศร้าได้ เมื่ออาการทางจิตใจดีขึ้นก็จะส่งผลให้ทางกายและทางเพศแข็งแรงดีขึ้นด้วย นอกจากยาแล้วทางแพทย์ยังมีวิธีฝึกการออกกำลังกล้ามเนื้อเพศให้แข็งแรงโดยการเติมออกซิเจนให้ 5 เท่าก็ช่วยให้แข็งแรงได้เร็วขึ้น 5 เท่าของการกินยาอย่างเดียว.
.............................
ดร.โอ สุขุมวิท 51