คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 16 พฤศจิกายน 2561

เรียน คุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ ค่ะ
ดิฉันอายุ 35 ปี สามีอายุ 47 ปี ดิฉันมีปัญหาที่ไม่รู้ว่าจะปรึกษากับใครดี จึงต้องเขียนจดหมายขอคำแนะนำจากคุณหมอที่ทรงความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ดี กล่าวคือ สามีของดิฉันไม่มีเพศสัมพันธ์ได้ดีคือว่าอวัยวะเพศของเขาไม่ค่อยแข็งตัวเต็มที่ หรือแข็งตัวได้บ้างเป็นบางครั้งเท่านั้น บางครั้งพอแข็งตัวอยู่ได้ไม่นาน ไม่ทันที่จะสอดใส่ก็อ่อนไปเสียแล้ว สร้างความทุกข์ใจให้แก่ดิฉันและสามีมาก ๆ เลยดิฉันก็สงสัยมากเหมือนกันทั้ง ๆ ที่เขาก็ดูแข็งแรงดีทุกอย่าง ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นปอด หัวใจ ความดัน ไขมันในเลือด ออกกำลังกายสม่ำเสมอแทบจะทุกวัน ดิฉันกังวลใจมาก อาการที่สามีเป็นอยู่นี้เกิดจากสาเหตุใด และจะแก้ไขได้อย่างไรบ้างหรือไม่ อย่างไรคะ
 
ด้วยความนับถือค่ะ
ป.ป.บ.35

ตอบ ป.ป.บ.35
อาการที่สามีวัย 47 ปี ของหญิงวัย 35 ปี กำลังเป็นอยู่นี้เรียกว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือโรคอีดี ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ประกอบด้วยโรคต่าง ๆ จำนวนมาก ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก เป็นต้น โรคเหล่านี้ทำให้เกิดความผิดปกติต่อหลอดเลือด เส้นประสาทของอวัยวะที่จะมีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ นอกจากนั้นยาหลายชนิดก็มีผลด้วยเช่นกัน การลดลงของการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนก็อาจทำให้ความสนใจทางเพศลดลง หรือทำให้การแข็งตัวลดลง อีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญเช่นกัน ได้แก่ สาเหตุทางด้านจิตใจเพราะการที่จะมีความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการทางเพศ รวมทั้งการแข็งตัวของอวัยวะเพศนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากจิตใจ ปัญหาจิตใจนั้นส่วนใหญ่มักจะเกิดความวิตกกังวล และความเครียด เป็นต้น การที่สามีภรรยามีปัญหาทางเพศการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือการเปิดใจคุยกันและช่วยกันแก้ปัญหาไม่ใช่เพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น และควรพาไปตรวจสุขภาพร่างกายโดยละเอียดเพื่อที่จะได้หาสาเหตุว่าเกิดจากโรคทางกาย หรือทางจิตใจ

การมีสุขภาพที่แข็งแรงอาการเจ็บป่วยอาจจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจนออกมา รอจนกว่าเมื่อเข้าสู่วัยที่อายุมากกว่านี้ถึงจะมีอาการที่ชัดเจน การเข้าพบแพทย์ตรวจร่างกายตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ทราบว่ามีโรคอะไรแอบแฝงเพื่อจะได้ทำการรักษาโรคทางกายได้แต่เนิ่น ๆ ส่วนโรคอีดีมีวิธีการรักษาหลายแบบ ทั้งยารับประทานช่วยฟื้นฟูหลอดเลือดซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสื่อมสภาพให้ยืดหยุ่นได้ดี ยาฉีดสำหรับกลุ่มที่เป็นเบาหวานเรื้อรังและผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก จำเป็นต้องฟื้นฟูบริหารกล้ามเนื้อเพศ ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกกลุ่มของโรคที่ทำให้เกิดอาการอีดี ผลการฟื้นฟูสามารถแก้ไขให้ร่วมเพศได้ดีภายใน 2-3 สัปดาห์ การเข้าพบแพทย์รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดนั้นเป็นการรักษาที่ถูกวิธีและถูกต้องที่สุด เพราะแพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมแก่อาการอีดีที่เป็นได้ดีที่สุด.
................................
ดร.โอ สุขุมวิท 51