คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 11 ธันวาคม 2561

เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ
ผมอายุตอนนี้ 71 ปี ชอบและติดตามอ่านคอลัมน์เสพสมฯ ใน นสพ.เดลินิวส์ โดยเฉพาะการตอบปัญหาพร้อมกับการให้ความรู้ของคุณหมอทั้งในเรื่องสุขภาพอนามัยในชีวิตประจำวันและสุขภาพในการมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข ทุกวันนี้ผมมีปัญหาของตัวเองเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศที่ทำให้ผมกลุ้มใจมานานพอสมควร ผมมีโรคประจำตัวคือเบาหวานเป็นมากว่า 10 ปีแล้ว ผมมีอาการอวัยวะแข็งตัวไม่ค่อยเต็มที่ สอดใส่ไม่ได้ (ภรรยาคนปัจจุบันอายุ 50 ปี) จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้ยาเฉพาะกิจมาช่วยในเรื่องการแข็งตัว พอช่วยได้ในบางครั้งเท่านั้น ที่แย่ไปกว่านั้น ผมถูกตรวจพบว่าต่อมลูกหมากโตอีก หมอจับตรวจส่องกล้องขูดเอาต่อมลูกหมากบางส่วนออกไป ทำให้การปัสสาวะดีขึ้น แต่ที่แย่ยิ่งกว่าก็คือไม่มีการแข็งตัวอีกเลย แม้จะใช้ยาเฉพาะกิจช่วยเสริมก็ตาม ผมกลุ้มใจและเครียดมาก ๆ ไม่มีความสุขทางเพศอีกเลย และก็หวั่นวิตกว่าอาการต่อมลูกหมากโตจะกลับมาเป็นอีกเพราะมันทรมานเหลือเกินเวลาปวดปัสสาวะ อาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับผมนั้น คุณหมอ ดร.โอ ช่วยให้คำแนะนำด้วยว่าจะสามารถแก้ไขได้บ้างไหม และด้วยวิธีการใด ๆ ครับ
 
ด้วยความนับถือ
ฉ.ม.71

ตอบ ฉ.ม.71
จากทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องเพศของมาสเตอร์ และจอห์นสัน ในระยะที่ 1 (excitement phase) เป็นระยะที่มีการคั่งของเลือดในส่วนของระบบสืบพันธ์ุเพศชาย ทำให้เกิดการแข็งตัวขององคชาตที่สารเคมีที่มีความสำคัญในการแข็งตัวคือสารไนตริกออกไซด์ จะถูกหลั่งออกมาเมื่อมีการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดคลายตัวทำให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณอวัยวะเพศ เกิดการขยายตัวของอวัยวะเพศ ส่งผลให้อวัยวะเพศชายใหญ่และยาวขึ้น ซึ่งการพองตัวของอวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว สารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) จะผลิตโดยเซลล์ที่บุผิวชั้นในของเส้นเลือด (endothelium) เมื่อเซลล์ที่บุชั้นในของเส้นเลือดถูกทำลายก็ทำให้มีสารไนตริก ออกไซด์ (Nitric Oxide) ลดน้อยลงทำให้เลือดไหลเข้าองคชาตน้อย

การแข็งตัวขององคชาตไม่เต็มที่ ซึ่งพบได้ในโรคเบาหวาน การผ่าตัดต่อมลูกหมากโตด้วยการส่องกล้องขูดต่อมลูกหมากบางส่วนออกถือเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ ซึ่งอวัยวะเพศไม่แข็งตัวหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากพบได้ 3-30% ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงองคชาต หลัง ผ่าตัดต่อมลูกหมากโตแล้วต่อมลูกหมากสามารถ กลับมาโตได้อีก ซึ่งมักเกิดหลังผ่าตัดไปแล้ว 5 ปี การฟื้นฟูอีดีในผู้ที่เป็นเบาหวานเรื้อรัง และได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตต้องอาศัยทั้งยากินและยาฉีดเพื่อขยายหลอดเลือดในองคชาตร่วมกับการใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำเพื่อกระตุ้นให้หลอดเลือดในองคชาตขยายตัวเพื่อช่วยให้ยากินออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ที่เป็นเบาหวานมานานมักจะพบว่าเกิดการดื้อต่อยากินได้ง่าย กล้ามเนื้อเพศก็สำคัญที่จะต้องฟื้นฟูคู่กันเพราะในผู้ที่เป็นเบาหวานเลือดจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อเพศลดลง สังเกตจากสีที่หัวองคชาตจะมีสีขาวซีด การใช้วิธีฟื้นฟูกล้ามเนื้อเพศจะช่วยให้เลือดไหลเวียนยังกล้ามเนื้อเพศได้ดีขึ้น การรักษาครบวงจรจะช่วยให้การแข็งตัวฟื้นตัวได้เร็วขึ้น การพบแพทย์จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด.
................................
ดร.โอ สุขุมวิท 51