คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 20 เมษายน 2562

ในปัจจุบันโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรืออีดี (Erectile Dysfunction : ED) เป็นโรคที่พบได้มากในชายวัยกลางคน ซึ่งโรคดังกล่าวแม้ว่าจะไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทางกายแต่สามารถมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพชีวิต ซึ่งสาเหตุเกิดจากทั้งทางกายและจิตใจ คือ โรคเบาหวาน จัดเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของโรคอีดี นอกจากนั้นยังมีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน BMI มากกว่า 23 ภาวะเครียด ความเคร่งเครียดในการทำงานไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด หรือแม้แต่วัยหลังเกษียณแล้วก็ตามถ้าเกิดความเครียดความกังวลก็ส่งผลให้เกิดโรคอีดีได้เช่นกัน สามารถพบได้ร้อยละ 20 สิ่งเสพติด พบว่าผู้ที่ดื่มเหล้ามากและสูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากเพราะการสูบบุหรี่จัด ส่งผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อายุที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เป็นโรคอีดีมากขึ้น

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าในการรักษาโรคอีดี แต่ทางเลือกในการรักษายังต้องพึ่งการรับประทานยาซึ่งยาส่วนใหญ่ที่ใช้รักษาจะเป็นยาในกลุ่มที่ยับยั้งพีดีอี -5 หรือยาเฉพาะกิจ เพื่อช่วยในการแข็งตัวขององคชาตได้ดีก่อนร่วมเพศ จึงทำให้มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องรับประทานยาเหล่านี้ในการฟื้นฟู ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องรับประทานยาเหล่านี้ในการฟื้นฟู และก็มีผู้ป่วยโรคอีดีอีกจำนวนหนึ่งเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาในกลุ่มที่ยับยั้งพีดีอี-5แล้วอาการไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเบาหวาน ไขมันสูง ความดันสูงเรื้อรัง

ปัจจุบันมีวิทยาการใหม่รักษาเส้นเลือดโดยเฉพาะให้ฟื้นฟูกลับสู่สภาพแข็งแรงเช่นวัยหนุ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือการใช้คลื่นเสียงความเข้มข้นต่ำแบบแรงกระแทกจากภายนอก (Low intensive extracorporeal shock wave therapy : LI-ESWT) หรือที่เรียกว่า ช็อกเวฟ ด้วยการปล่อยคลื่นความถี่ต่ำไปที่กล้ามเนื้อเพศ จะพบว่ามีการไหลเวียนเลือดที่องคชาตเพิ่มมากขึ้น และยังไม่พบว่ามีอาการปวดหรือผลข้างเคียงในระหว่างและหลังการรักษาแต่อย่างใด แพทย์ประเทศอิสราเอล อินเดีย อังกฤษ ได้รายงานผลงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว สร้างความพอใจให้คนไข้อย่างมีเหตุมีผล และลดการใช้ยาเฉพาะกิจลง
ถึง 50%

การรักษาโรคอีดีด้วยคลื่นกระแทกจึงเป็นเทคโนโลยีและทางเลือกใหม่ในการฟื้นฟูในผู้ที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศอันมาจากปัญหาของหลอดเลือด แต่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเฉพาะกิจ กลุ่มเบาหวานเรื้อรัง ที่น่าสนใจมากคือกลุ่มคนไข้โรคหัวใจที่ได้รับยากลุ่มไนเตรต แล้วกินยาเฉพาะกิจไม่ได้ เป็นต้น แนวทางการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน การเลือกวิธีการรักษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วินิจฉัย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา ฟื้นตัวโดยลดละเลิกการใช้ยาตามอาการมากน้อยของแต่ละบุคคลโดยให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด.
.................
ดร.อุ๋มอิ๋ม