คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 16 กรกฎาคม 2562

กราบเรียน คุณหมอ ดร.โอ ที่นับถือ
ผมอายุ 58 ปี เป็นผู้ที่ชอบติดตามอ่านคอลัมน์ของคุณหมอในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นประจำ เพราะได้ความรู้และสามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้ ผมเป็นคนที่ชอบดูแลสุขภาพมาตลอดตั้งแต่อายุ 25 ปี จนทุกวันนี้เรื่องอาหารการกิน ผมจะกินผักมากกว่าอาหารทุกชนิด และจะชอบกินปลามากกว่าอาหารประเภทเนื้อ ผมออกกำลังกายทุกวันเลยครับ ผมมีปัญหาอยากจะเรียนถามคุณหมอคือผมอ่านหนังสือพิมพ์เกือบทุกวันและมักจะเจอข่าวที่มีบุคคลมีชื่อเสียง หรือชาวต่างชาติที่เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว อยู่เสมอ ๆ และมักจะเป็นชายมากกว่าหญิง ผมจึงอยากรู้ว่าโรคนี้เป็นอย่างไร และจะทราบได้อย่างไรว่าตัวเรามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นหัวใจล้มเหลว จะได้หาทางป้องกันการเกิดโรค ตัวผมเองก็มีอายุมากแล้วแต่ผมก็อยากมีอายุถึงร้อยปีอยู่นะครับ
 
ด้วยความนับถือ
ดอน 58

ตอบ ดอน 58
ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดกับผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ขาดออกซิเจน เมื่อไตได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลงทำให้ไตสร้างสารบางชนิดออกมาทำให้เกิดการคั่งของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย หากหัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลวก็จะมีการคั่งของน้ำและเกลือที่ปอดทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด หากหัวใจห้องล่างขวาล้มเหลวจะเกิดการคั่งของน้ำที่ขาทำให้ขาบวม

อาการหัวใจล้มเหลวอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน เช่นเกิดภายหลังจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออาจค่อย ๆ เกิด ซึ่งอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ไอตอนกลางคืน อาจมีเสมหะเป็นฟองสีชมพูร่วมด้วย หอบเหนื่อยตอนกลางคืน นอนราบหายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อยง่ายหลังออกแรงหรือออกกำลังกาย ทำงานหนักไม่ได้ อ่อนเพลีย เหนื่อย เวียนศีรษะ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน บวมที่ปลายเท้า ข้อเท้า และ
กดบุ๋ม

การป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงภาวะเครียด ไม่ทำงานที่ออกแรงมาก ๆ อย่างหักโหม งดอาหารเค็ม ควบคุมปริมาณการดื่มน้ำ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีน้ำหนักเพิ่ม รู้สึกผิวหนังตึง ข้อเท้าบวม รองเท้าหรือผ้าคับ และไอบ่อยขึ้น รู้สึกเพลีย และการทำกิจวัตรประจำวันได้ช้าลง อาจจะเป็นอาการเริ่มแรกของภาวะหัวใจล้มเหลว ควรรีบพบแพทย์ การได้ตรวจเลือดหาสาร NT-proBNP สามารถช่วยในการวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว

โดยถ้าตรวจพบสารนี้จากการตรวจเลือดในปริมาณตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะวินิจฉัยได้ว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งพบว่ามีความไวและความจำค่อนข้างสูง ท่านปฏิบัติดีเยี่ยมแล้ว ระบบอาหาร ระบบกล้ามเนื้อก็ช่วยได้ดีเยี่ยมแล้ว หมั่นตรวจระบบหัวใจ ระบบทางเพศเพิ่มเติม และก็ครบถ้วนของสุขภาพกายและสุขภาพเพศมีโอกาสอยู่เกิน 100 ปีได้ มีโอกาส 0.1% ถ้ามีความพยายามมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอแบบมีมาตรฐาน หากล้มเหลวอีดีอ่อนตัวมักจะอายุสั้นกว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ ถือว่าขาดความกระตือรือร้นเลยไม่สนใจการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมักจะอ่อนแอจนป่วยเอง.
.............................
ดร.โอ สุขุมวิท 51