คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 16 ตุลาคม 2562

มีหลายการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือดลดลง อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวยังเป็นข้อโต้แย้งว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมีอายุทางสรีรวิทยาหรือทางพยาธิวิทยาที่มีความผิดปกติ

คำว่า ภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงตามอายุ และอาการที่พบบ่อยที่สุดคืออาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกเขาไม่ขันตอนเช้า ความต้องการทางเพศลดลง โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีการรายงานความสนใจภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 นักวิจัยได้อธิบายคำว่า ผู้ชายวัยทอง แต่ตั้งข้อสังเกตว่าโรคดังกล่าวพบไม่บ่อยนักและเป็นพยาธิสภาพของกระบวนการชราภาพ นอกจากนี้ยังมีคำเรียกภาวะนี้อีกหลายชื่อเช่น แอนโดรพอส ภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องบางส่วน และ กลุ่มอาการขาดฮอร์โมนเพศชาย คำเรียกดังกล่าวทั้งหมดถูกนำมาใช้อธิบายการลดลงของฮอร์โมนเพศชายตามอายุ

มีความสนใจเรื่องยาอายุวัฒนะกับภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องอย่างมากในปัจจุบันมีการพัฒนาการเตรียมฮอร์โมนเพศชายเพื่อการทดแทน โดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ เช่นเพื่อเพิ่มอายุขัย หรือการรักษาเพื่อทำให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นใหม่หรือกลับเป็นหนุ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า การขาดฮอร์โมนเพศชายนั้นสัมพันธ์กับโรคอ้วนลงพุง และอาจเพิ่มอัตราการตายของโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการติดตามผู้ป่วยระยะยาว ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่าการรักษาให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนสามารถกระตุ้นให้เกิดการลดน้ำหนักและชดเชยความเสี่ยงในระยะยาวของโรคหลอดเลือดและหัวใจ และโรคอ้วนลงพุง

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้เช่นกันการให้ฮอร์โมนทดแทนของภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่อง ได้ถูกตรวจสอบอย่างมาก เนื่องจากมีการใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนอย่างแพร่หลาย ในปี พ.ศ. 2554 ยอดขายฮอร์โมนเพศชายทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้มีความกังวลด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนสื่อในสังคมต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ของการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ทำให้มีการยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) เพื่อบังคับใช้คำเตือนไว้ในบรรจุภัณฑ์ยา.
.....................................................
ศ.น.ท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โดศล...