คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 5 พฤศจิกายน 2562

เรียน คุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ
ผมอายุ 40 ปี ร่างกายโดยทั่วไปปกติ เบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเลือด ทุกอย่างปกติหมด แต่ผมมีปัญหาทางจิตใจคือผมป่วยโรคซึมเศร้ามาประมาณ 2 ปีแล้ว ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด ผมมีภรรยาอายุ 35 ปีเราอยู่กินกันมา 5 ปี แต่ยังไม่มีลูก เพราะผมเกิดมีอาการป่วยก่อนภรรยายังทำใจไม่ได้จึงต้องคุมกำเนิดไปก่อน แต่เธอก็คอยดูแลและให้กำลังใจที่ดีและไม่ทิ้งผมไปไหนเลย แม้ว่าผมจะไม่สามารถให้ความสุขทางเพศแก่เธอได้เต็มที่ก็ตามเนื่องจากการแข็งตัวของอวัยวะเพศของผมไม่ดีเหมือนเดิมหลังจากที่เข้ารักษาอาการซึมเศร้าจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ก็ยังมีความต้องการทางเพศอยู่และเธอก็ต้องการด้วย ตอนนี้ผมกับภรรยาไม่มีเพศสัมพันธ์กันมาหลายเดือนแล้ว จึงต้องขอคำปรึกษาจากคุณหมอโดยด่วน! ว่าอวัยวะเพศที่เกิดจากการรักษาอาการซึมเศร้านี้จะสามารถรักษาได้บ้างไหมเพราะผมต้องรักษาโรคนี้ต่อไปอีกนาน มียากินอะไรที่ช่วยแก้ไขได้ครับ ผมไม่อยากให้ภรรยาต้องมาหมดความสุขทางเพศเพราะผมอีกต่อไป
 
ด้วยความนับถือ
แมน 40

ตอบ แมน 40
โรคซึมเศร้า เป็นการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจและความคิด อาจจะเกิดในคนที่มีโรคประจำตัวหรือเกิดในคนปกติทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีการประเมินว่าในระยะเวลา 1 ปี จะมีประชาชนร้อยละ 9 ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจะทำให้การดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงและเกิดความเจ็บปวดทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลบางครั้งอาจจะทำให้ครอบครัวแตกแยก อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่าอาการอีดีนั้นสามารถเกิดได้ทั้งทางจิตใจและทางกาย ซึ่งสาเหตุส่วนน้อยจะมาจากจิตใจ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า รวมไปถึงยาที่ใช้รักษาอาการทางจิตก็สามารถทำให้เกิดอาการอีดีได้ทั้งสิ้น

สำหรับการฟื้นฟูอาการอีดีในผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั้น ก็เหมือนกับอาการอีดีจากโรคทางกาย อาจสามารถใช้ยากินกลุ่มพีดีอี 5 ไอ ก็สามารถช่วยให้เกิดการแข็งตัวที่ดีตามมาจากการศึกษาใช้ยากินกลุ่มพีดีอี 5 ไอ ชนิดทาดาลาฟิล (Tadalafil) ในชายอีดีที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการร่วมเพศมาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ชายกลุ่มนี้มีทั้งอายุมาก และมีโรคประจำตัวมากมายมีคะแนนไอไออีเอฟ ที่ต่ำมาก พบว่า 81% ของชายกลุ่มนี้ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างน่าพอใจอย่างน้อย 1 ครั้งหลังการรักษา

การฟื้นฟูอาการอีดีด้วยวิธีใดก็ตามในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ควรได้รับการออกกำลังกายควบคู่กันไป อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิก เพราะมีการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้เพราะสามารถเพิ่มระดับสารเคมีในสมองที่ชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ก็คือสารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ระงับปวดคล้ายกับมอร์ฟีน ทำให้คนเราอารมณ์ดีขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวยืนยันว่า การออกกำลังกายที่จะมีผลต่อการรักษาโรคได้นั้น จะต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 10 วันขึ้นไป เพื่อให้ร่างกายสามารถเพิ่มระดับเซโรโทนิน เป็นสารเคมีในสมองตัวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า สามารถลดระดับอาการซึมเศร้าได้ เมื่ออาการทางจิตใจดีขึ้นก็จะส่งผลให้ทางกายและทางเพศแข็งแรงดีขึ้นด้วย การรักษาใกล้ชิดกับแพทย์จึงช่วยรักษาอาการและแก้ไขการแข็งตัวได้ดีเกิน 80%.
............................
ดร.โอ สุขุมวิท 51