คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 17 พฤศจิกายน 2562

เรียน คุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ

ผมมีเรื่องอยากจะขอเรียนปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาเฉพาะกิจ ปัจจุบันผมอายุ 77 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคความดันโลหิตสูงและโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ได้รับการผ่าตัดแล้วแต่ก็ต้องกินยาขยายหลอดเลือดอยู่ ถึงแม้ว่าผมจะอายุมากแต่ผมก็ยังมีอารมณ์ทางเพศอยู่ ผมจะออกไปใช้บริการผู้หญิงข้างนอกเดือนหนึ่งประมาณ 1-2 ครั้ง เพื่อสนองความสุขในช่วงบั้นปลายของชีวิต อายุขนาดนี้สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือ อวัยวะเพศมันแข็งไม่พอที่จะสอดใส่ได้ บางครั้งได้รับการเล้าโลมอย่างดีเยี่ยมก็ไม่แข็งเลย ผมจึงซื้อยาทางโทรทัศน์เป็นยาเฉพาะกิจช่วย ผมทำอย่างนี้มาตั้งแต่ได้รับการผ่าตัดขยายเส้นเลือดแล้ว โดยที่ไม่ได้ปรึกษาใคร ก็ประมาณ 2 ปีกว่าแล้ว เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาผมเข้ารับการตรวจร่างกายพบว่าความดันสูงเล็กน้อย และมีค่าตับสูงขึ้นผิดปกติ ซึ่งไม่เคยมี ผมจึงสงสัยว่าจะเกิดจากการกินยาหรือไม่ครับ ตอนนี้ผมเลิกกินยาไปได้ 3 เดือนแล้ว เดือนหน้าหมอนัดตรวจเลือดอีก คุณหมอครับยาเฉพาะกิจที่ผมกินนี้จะมีพิษต่อตับหรือเปล่าครับ แล้วถ้าไม่กินยาดังกล่าวจะมีวิธีที่จะทำให้ร่วมเพศได้ไหมครับ

ด้วยความนับถือ

ปราการ 77

ตอบ ปราการ 77

โดยทั่วไปแล้วข้อห้ามของการใช้ยาเฉพาะกิจคือห้ามใช้กับผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจที่มีการใช้ยาขยายหลอดเลือดกลุ่มไนเตรทเพราะสามารถทำให้เกิดอาการช็อกเสียชีวิตได้ ซึ่งอาการป่วยทางกายด้วยโรคหัวใจพร้อมกับยาที่กินเพื่อขยายหลอดเลือดของชายวัย 77 ปีนั้นถือเป็นข้อห้ามใช้ยาดังกล่าว ควรจะหยุดการกินยาเฉพาะกิจโดยเด็ดขาดหรือถ้าต้องการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อน ไม่ควรซื้อยากินเอง อันตรายถึงแก่ชีวิตคุณได้ตลอดเวลา เคยมีรายงานว่าการใช้ยาชิลเดนาฟิล ขนาด 50 มก. เป็นเวลา 1 เดือน อาจช่วยเร่งให้เกิดความเสียหายต่อตับได้ และมีรายงานว่าการใช้ยาทาดาลาฟิล ในชายอายุ 54 ปี มีอาการหายใจติดขัด เกิดขึ้นหลังกินยาดังกล่าวไป 1 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตามคนไข้รายนี้พบว่าจะมีระดับของ protein c ที่ต่ำซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดภาวะ thrombosis เช่นกัน

การที่มีค่าตับสูงขึ้นสามารถบ่งบอกได้หลายสภาวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) ตับอักเสบจากการดื่มสุรา ตับอักเสบจากยาหรือสมุนไพร, ตับอักเสบจากโรคภูมิแพ้, ไขมันพอกที่ตับ, เนื้องอกในตับ, หัวใจวาย เป็นต้น ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แน่นอนและทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป สำหรับการรักษาอาการอีดีในผู้ป่วยโรคหัวใจและได้รับยาขยายหลอดเลือด ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์โดยตรงเพื่อซักถามเกี่ยวกับประวัติการรักษาโรคประจำตัวและตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อใช้เป็นแนวทางในการรักษาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้มากที่สุด ซึ่งการรักษานั้นมีตั้งแต่ใช้การยิงคลื่นความถี่ต่ำช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัวควบคู่กับการฟื้นฟูกล้ามเนื้อเพศ สำหรับยากินนั้นแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยให้เองตามอาการและระดับสุขภาพเส้น เลือดของแต่ละคน ไม่ใช่สูตรสำเร็จ สรุปได้ว่ายาที่ปลอดภัยให้พิจารณาโดยแพทย์และเภสัชกร.

----------------------------
ดร.โอ สุขุมวิท51