คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

สวัสดีครับคุณหมอ ดร.โอ ที่เคารพอย่างสูง


ตอนนี้ ผมอายุ 68 ปี เป็นคนรูปร่างท้วม ลงพุงเล็กน้อย ผมมีโรคประจำตัวคือเบาหวาน เป็นมาได้ 5 ปีแล้ว ปัจจุบันกินยาควบคุมน้ำตาลในเลือดอยู่ และเข้ารับการตรวจเลือดกับหมอทุก 3 เดือน ผมตรวจล่าสุดพบว่ามีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูงมากกว่าเกณฑ์ หมอเลยให้กินยาลดไขมันเพิ่มอีก คุณหมอครับระยะนี้ผมเริ่มสังเกตว่าตัวเองหงุดหงิดง่ายมาก ใครพูดอะไรไม่ถูกใจก็จะอารมณ์เสียเสมอ เข้าหน้าใครไม่ค่อยติด ที่สำคัญกลางคืนนอนหลับยากมากใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะหลับได้ อารมณ์ทางเพศก็ไม่ค่อยมี ยิ่งแย่กว่านั้นอวัยวะเพศไม่แข็งตัวเต็มที่เหมือนเดิม ผมเคยอ่านบทความที่คุณหมอเขียนในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับอาการพร่องฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งอาการคล้ายกับของผมมาก ผมจึงอยากถามคุณหมอว่าการเสริมฮอร์โมนเพศชายนอกจากจะช่วยให้อาการที่กล่าวมาข้างต้นดีขึ้นแล้วไม่ทราบว่าจะช่วยให้เบาหวานกับไขมันในเลือดลดลงได้ไหมครับ
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ธนง 68

ตอบ ธนง 68
เมื่อผู้ชายมีระดับฮอร์โมนเพศลดลง ไขมันในร่างกายจะสูงขึ้น จนเกิดการสะสมมากบริเวณรอบเอวหรือเรียกง่าย ๆว่าลงพุง การลงพุง จึงกลายเป็นสัญญาณอันดับแรก ที่แสดงถึงการพร่องฮอร์โมนเพศชาย คือ ถ้ามีเส้นรอบเอวเกินกว่า 90 เซนติเมตรในคนตะวันตก และเกินกว่า 90 เซนติเมตรในคนตะวันออก ในชายที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรมและเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีระดับฮอร์โมนชายในเลือดต่ำกว่าปกติ การเพิ่มระดับฮอร์โมนชายอาจจะช่วยในการรักษาเมตาบอลิกซินโดรม และควบคุมน้ำตาลในเลือดได้

โดยมีการศึกษาในระยะเวลา 52 สัปดาห์ ได้ศึกษาผลของการควบคุมอาหารคู่กับการออกกำลังกาย โดยมีหรือไม่มีการรับเทสโทสเตอโรน ทางผิวหนังในชายที่มีระดับฮอร์โมนเพศต่ำและเพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยชายทั้งหมด 32 คน มีระดับฮอร์โมนเพศต่ำ (เทสโทสเตอโรนต่ำกว่า 12.0 mmol/L) และมีการออกกำลังกาย ซึ่ง 16 คนได้รับเทสโทนเตอโรนเจล 50 mg. ทุกวันวันละครั้ง ในระหว่างการศึกษานี้ไม่มีการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าระดับเทสโทสเตอโรน เบาหวานแอบแฝง (HbA1c) ระดับน้ำตาล ไขมันดี ไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และรอบเอวดีขึ้นหลังจากรักษาเป็นเวลา 52 สัปดาห์

นอกจากนี้พบว่าในกลุ่มที่ใช้เทสโทสเทอโรน ผลการตรวจเหล่านี้จะพัฒนาดีกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้มาก โดยกลุ่มที่ใช้เทสโทสเตอโรนทุกคน จะมีระดับเบาหวานแอบแฝงน้อยกว่า 7.0% และพบร้อยละ 87.5 ของเบาหวานแอบแฝงน้อยกว่า 6.5% ขณะที่กลุ่มที่ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โดยไม่มีการให้ฮอร์โมนมีเพียง 31.3% เท่านั้นที่มีอาการดีขึ้น

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและรับเทสโทสเตอโรนผ่านทางผิวหนังเป็นเวลา 52 สัปดาห์สามารถช่วยรักษาภาวะ เมตาบอลิกซินโดรม และควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีขึ้น ตามด้วยกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อเพศอย่างเต็มที่ก็สามารถเพิ่มคะแนนการแข็งตัวได้ถึงระดับ EHS 4 ได้ คือร่วมเพศได้อย่างมีความสุขทุกครั้ง.
.............................
ดร.โอ สุขุมวิท 51