คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562

กราบเรียน คุณหมอ ดร.โอ ที่นับถือ
ผมอายุ 73 ปี เป็นข้าราชการบำนาญ ผมป่วยเป็นต่อมลูกหมากโตมาประมาณ 5 ปีกว่าแล้วครับ แต่ตอนนี้ผมได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากแล้ว หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากใหม่ ๆ การขับถ่ายปัสสาวะคล่องตัวดี แต่ 2-3 เดือนมานี้ผมพบว่าเกิดอาการปัสสาวะไม่สุด มันติดอยู่ในลำกล้องส่วนปลายทำให้เกิดอาการปวดมาก ยิ่งเวลากลางคืนจะปวดอย่างมากต้องรีดดึงน้ำปัสสาวะให้ออก ผมจึงไปพบหมอ และหมอให้ยามาทานถ้าไม่หายก็ให้กลับมาส่องกล้องใหม่ จึงรู้สึกเครียดอย่างมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำผมด้วย จะผ่าตัดใหม่หรือใช้ยากินและต้องกินยาอะไร ลดอาหารประเภทไหนบ้าง หรือแนะนำโรงพยาบาลที่กทม.ก็ได้ที่จะทำให้อาการที่ทรมานจิตใจอยู่ทุกวันนี้หายไปสักที
 
ด้วยความนับถือ
ธัญญา 73

ตอบ ธัญญา 73
โดยทั่วไปแล้วโรคต่อมลูกหมากโตไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร เพียงแต่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กรณีของชายวัย 73 ปี ก็จะรักษาด้วยยา รักษาโรคนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มยากั้นอัลฟา 1 จะออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบที่ควบคุมทางออกของปัสสาวะ ได้แก่ prazosin (Minipress) จะมีฤทธิ์สั้น สำหรับ terazosin (Hytrin) และ doxazsin (Cardura XL) จะมีฤทธิ์ที่ยาวกว่า กินทีเดียวอยู่ได้ทั้งวัน อีกชนิดคือ tamsulosin (Flomax) มีฤทธิ์เกี่ยวข้องกับทางออกปัสสาวะมากที่สุด ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ เพลีย อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เป็นต้นปัจจุบันมีการใช้ยาที่ลดอาการปัสสาวะลำบากคือยาในกลุ่ม พีดีอี 5 ไอ ซึ่งเป็นยาใช้บรรเทาอาการต่อมลูกหมากโตได้เหมือนกันและยังช่วยให้เกิดการแข็งตัวขององคชาตได้ดีอีกด้วย กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มยาต้านฮอร์โมนเพศเช่น ยา finasteride (Proscar), dutaseride (Avodart) พวกนี้ทำให้ต่อมลูกหมากหดเล็กลงได้สัก 20-30% แต่อาจทำให้อารมณ์ทางเพศและอวัยวะเพศไม่แข็งตัว 3.มีอาการมากจำเป็นต้องผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก

อาการของต่อมลูกหมากโต เมื่อได้รับการผ่าตัดแล้วสามารถกลับมาเป็นได้ใหม่อีก อย่าได้กังวลใจมาก เมื่อเป็นก็ทำการรักษาตามอาการต่อไป หากดูแลสุขภาพตัวเองก็จะช่วยให้โอกาสเกิดต่อมลูกหมากโตได้น้อยลง มีการศึกษาพบว่าสารพวกไฟโตเอสโตรเจน มีคุณสมบัติช่วยลดการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศชายต่อต่อมลูกหมากได้ ยับยั้งการโตขึ้นของต่อมลูกหมาก เป็นสาเหตุของการอุดกั้นแบบคงที่ได้ สารไฟโตเอสโตรเจนนี้พบมากในผัก ผลไม้ และธัญพืช เช่น แอปเปิล แตงโม หัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง เมล็ดต้นแฟลกซ์ ข้าว กระชาย ไพล พลัม สาลี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบสารต้านอนุมูลอิสระในอาหาร เชื่อว่าสามารถยับยั้งการโตขึ้นของต่อมลูกหมากได้เช่นกัน สารนี้พบในมะเขือเทศ ใบชา และชาเขียว ดังนั้นการบริโภคอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น และลดการบริโภคอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ และไขมันให้น้อยลง น่าจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคต่อมลูกหมากโตได้ นอกจากนี้แล้วควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน เช่น กาแฟ การรักษาอาการต่อมลูกหมากจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์โดยเฉพาะแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะจะเป็นผู้พิจารณาว่า การรักษาด้วยวิธีไหนที่เหมาะสมกับอาการป่วยในตัวคนไข้มากที่สุด อย่าได้เครียดและกังวลใจมาก โรคต่อมลูกหมากโตสามารถรักษาได้.
...........................
ดร.โอ สุขุมวิท 51