คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 9 มิถุนายน 2564

ความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอด สามารถรักษาด้วย ไซโปรเฮปทาดีน ( Cyproheptadine) เป็นสารต่อต้านหรือยับยั้งฮีสตามีนที่มีคุณสมบัติต้านอาการแล้ว ยาไซโปรเฮปทาดีนยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของอะเซทิลโคลีน
(Anticholinergic) ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ปัสสาวะขัด ท้องผูก แม้ว่าข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการแพ้ของไซโปรเฮปทาดีนจะเป็นข้อบ่งใช้เดียวที่ได้รับการอนุมัติ แต่ในปัจจุบันมีการนำ ไซโปรเฮปทาดีนมาใช้กับความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอด เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเซโรโทนิน จากการทดลองซึ่งมีผู้ป่วย และหลักฐานประวัติการรักษาในอดีตไม่มาก ปริมาณที่แนะนำคือ 4-16 มก. 3-4 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำหรือตามความต้องการ ผู้ป่วยชายซึ่งมีความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอดจากยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ พบว่าประมาณร้อยละ 50 มีอาการดีขึ้นบางส่วนหรือมากขึ้น ปริมาณหรือขนาดของยามีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอนและการเพิ่มน้ำหนักอาจเกิดขึ้น

อะแมนตาดีน (Amantadine) เป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของไวรัสในร่างกาย ใช้ในการรักษาและป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ตลอดจนใช้รักษาโรคพาร์กินสันและอาการที่คล้ายโรคพาร์กินสันอย่างกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กลไกการออกฤทธิ์ไม่ทราบชัดเจน แต่ยามีแนวโน้มที่จะกระตุ้นเซลล์ประสาทโดพามีนในเซลล์สมองทางอ้อม มีงานวิจัยเล็ก ๆระบุว่าความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอดที่เกิดจากยาต้านเศร้าดีขึ้นในผู้ป่วยชาย 8 คนจาก 19 คน (ร้อยละ 42) อะแมนตาดีน อาจรับประทานตามความต้องการ (100-400 มก. 2 วันก่อนมีเพศสัมพันธ์) หรือทานเป็นประจำ (100-200 มก. วันละสองครั้ง) ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของอะแมนตาดีน คือ คลื่นไส้ วิงเวียน ท้องผูก ภาพหลอน ความสับสนและความวิตกกังวล ผลข้างเคียงที่รุนแรงมากขึ้นอาจรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ

ยาโยฮิมไบน์ (Yohimbine) หรือบางทีก็เรียกว่าโยฮิมบีน คือสารสกัดอัลคาลอยด์อินโดลเป็นสารประกอบหลักของเปลือกต้นไม้ที่มีแหล่งกำเนิดแถบแอฟริกากลาง ถูกนำมาใช้เป็นยากระตุ้นสุนัขหรือกวางให้ตื่นจากภาวะสลบหรือนอนหลับจากฤทธิ์ยา แต่ในมนุษย์ มีการทดลองทางคลินิกจำนวนหนึ่งโดยยาโยฮิมบีนมักใช้เป็นยาโป๊และอาจมีประโยชน์ในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อย่างไรก็ตามการวิจัยความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอดจนถึงปัจจุบันได้รับการออกแบบมาไม่ดี โดยให้ผลลัพธ์ที่ขัดแย้งกัน มีการศึกษาในอาสาสมัครจำนวนน้อยรายงานว่าในการให้ยาโยฮิมบีน ส่งผลให้ผู้ป่วยซึ่งมีผลข้างเคียงอาการผิดปกติของการถึงจุดสุดยอดจากยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ มีอาการระดับที่ดีขึ้นกว่าการรักษาด้วยไซโปรเฮปตาดีนหรืออะแมนทาดีน (ผู้ป่วย 17 คนจาก 21 คนคิดเป็นร้อยละ 81) การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ชาย 19 ใน 29 คนที่มีภาวะไม่มีความสุขสุดยอด (66%) สามารถบรรลุจุดสุดยอดได้ในปริมาณโยฮิมบีนเฉลี่ย 38 มก.

บูโพรพิออน คือ ยาต้านเศร้าชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า เป็นยารักษาภาวะอารมณ์แปรปรวนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล นอกจากนี้ อาจนำมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ด้วย การศึกษาขนาดเล็กที่อธิบายถึงการให้บูโพรพิออนชนิดปลดปล่อยอย่างต่อเนื่องขนาด 150 มก. ทุกวันในผู้ชายที่มีรายงานการถึงจุดสุดยอดล่าช้าตลอดชีวิตพบว่าระยะเวลานับตั้งแต่สอดใส่อวัยวะเพศผ่านทางช่องคลอด จนถึงมีการหลั่งนํ้าอสุจิในช่องคลอดเฉลี่ยลดลงร้อยละ 25 คะแนนโดเมนความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์และการถึงจุดสุดยอดในแบบสอบถามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการปรับปรุงในผู้ป่วยรายงานว่ามีการควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิจาก “ ค่อนข้างดี” เป็น“ ดี”ในผู้ชายร้อยละ 21.

-----------------------------------------------
ศ.น.ท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล...