คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558

วิตามินดี คืออะไร

คำว่า “วิตามินดี (25-hydroxyvitamin D)” หมายรวมถึงทุกรูปแบบของวิตามินดี

โดยมีสองรูปแบบสำคัญคือ วิตามินดี 2 ได้มาจากพืชหรือยีสต์ ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้นและวิตามินดี 3 เป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) ซึ่งมีอยู่ในแสงแดด อาหารอาจถูกเสริมด้วยทั้งวิตามินดี 2 หรือ วิตามินดี 3

วิตามินดีได้มาจากสองแหล่ง อันดับแรกพบได้ในอาหารหลายชนิดเช่น ตับ ปลา หอย ไข่แดง เนย น้ำนมเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุ และน้ำมันตับปลา

แต่ปริมาณนั้นน้อยกว่าแหล่งที่สอง ซึ่งเกิดจากร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีเอง โดยการกระตุ้นของแสงแดดยามเช้า ซึ่งสัมผัสเพียง 10 นาทีก็สามารถป้องกันการขาดแคลนวิตามินดีได้

หน้าที่หลักของวิตามินดี

หน้าที่หลักของวิตามินดีคือคงระดับปกติของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในกระแสเลือด วิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งสร้างและคงให้กระดูกแข็งแรง วิตามินดีถูกใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับแคลเซียม ในการช่วยปรับปรุงให้สุขภาพกระดูกดีขึ้นและลดการเกิดกระดูกหัก วิตามินดีอาจช่วยป้องกันกระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง มะเร็งและโรคอื่น ๆ

การขาดวิตามินดี

การขาดวิตามินดีทำให้เกิดโรคแบบดั้งเดิมของโรคกระดูกอ่อน (Rickets) และโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) การขาดวิตามินดีในเด็กทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ซึ่งกระดูกจะนิ่มหรือไม่แข็งแรง ส่วนการขาดวิตามินดีในผู้ใหญ่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงและกระดูกหักง่าย (Osteomalacia)

ผู้มีความเสี่ยงสูงของการขาดวิตามินดีคือชายสูงอายุหรือคนอ้วนซึ่งถูกจำกัดการได้รับแสงแดด ผู้ป่วยซึ่งมีสภาวะของโรคซีลติกไฟโปรซิส (cystic fibrosis) และเป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลต่อทางเดินหายใจ หรือโรคกลุ่มอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) มีความเสี่ยงสำหรับการขาดวิตามินดี ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าวิตามินดีมีความจำเป็นต่อสุขภาพกระดูก และข่าวดีคือมนุษย์ส่วนใหญ่ได้รับวิตามินดีพอเพียง.

รศ.น.ท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล

คลินิกสุขภาพชาย หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ

ภาควิชาศัลยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล