คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559

สารแอนโทไซยานิน เป็นสารสี (pigment) ที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน ใช้เป็นสารให้สี (coloring agent) ธรรมชาติในอาหาร พบได้ในผลไม้ซึ่งมีสีน้ำเงินเข้มหรือสีแดง เช่นบลูเบอรี่ (blueberry) เชอรี่ (cherry) แบล็ก เบอรี่ (blackberries) ผัก เช่น กะหล่ำปลีสีม่วง (red cabbage) และ เรดิชสีแดง (red radish) ต้นไม้ซึ่งออกผลสีดำใช้ทำแยม (black currant)

สารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) เป็นสารประกอบฟินอล (phenolic compounds) และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และสามารถพบ ฟลาโวนอยด์มากในใบชา องุ่น หัวหอม ถั่วเหลือง แอปเปิ้ล และในเปลือกของผลไม้พืชตระกูลส้ม (citrus fruit)

ดูเหมือนว่าอาหารซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีทั้งสองชนิดนี้คือสารแอนโทไซยานิน หรือสาร ฟลาโวนอยด์ จะเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศลดลงอย่างมากและมากกว่าการเคลื่อนไหวออกแรง (Physical activity)

ถึงแม้ทั้งการรับประทานสารอาหารทั้งสองชนิดดังกล่าวและการออกกำลังกายมีความสำคัญ แต่ในการศึกษานี้บุคคลซึ่งรับประทานผลไม้ปริมาณมากและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีโอกาสน้อยกว่าร้อยละ 21 ที่จะประสบปัญหาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มซึ่งเคลื่อนไหวออกแรงน้อยและรับประทานอาหารซึ่งคุณภาพด้อยกว่า

ข้อมูลเหล่านี้ได้เพิ่มความรู้มากขึ้นว่าการรับประทานอาหารสุขภาพร่วมกับการเคลื่อนไหวออกแรงหรือการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นและคงรักษาน้ำหนักเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับสุขภาพทางเพศ นอกจากนี้มีผลดีระยะยาวในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ และอาจกล่าวได้ว่าโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเปรียบเหมือนเป็นอุปกรณ์สำหรับบ่งบอกหรือสัญญาณว่าสุขภาพของหลอดเลือดไม่ดีในระยะแรก ซึ่งรวมหมายถึงสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด

นักวิจัยได้แสดงว่าสารฟลาโวนอยด์บางชนิดสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยช่วยให้หลอดเลือดเปิดซึ่งเป็นผลให้การไหลเวียนโลหิตได้ดีขึ้น สารเคมีเหล่านี้ช่วยควบคุมระดับไนตริก ออกไซด์ (nitric oxide) ซึ่งช่วยให้หลอดเลือดขยายและเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

ข้อสรุป ผู้ชายอาจสามารถลดความเสี่ยงของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศโดยบริโภคผลไม้ชนิดบลูเบอรี่สีแดงและสีม่วง (blueberry) และผลไม้ซึ่งมีรสเปรี้ยว (cirtrus fruits) ซึ่งเต็มไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) นอกจากนี้สารฟลาโวนอยด์จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยยังคงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดทั่วไป ดังนั้นการบริโภคสารอาหารเหล่านี้จึงมีความสำคัญมาก ถึงแม้ว่าจะไม่กังวลเกี่ยวกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ.

รศ.น.ท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล
คลินิกสุขภาพชาย หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ
ภาควิชาศัลยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล