คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 25 กรกฎาคม 2559

เรียน คุณหมอ ดร.คิว ลานทอง

สวัสดีครับคุณหมอที่นับถือ ผมอายุ 45 ปี มีครอบครัวแล้ว ติดตามอ่านคอลัมน์ของคุณหมอมานานมาก สนใจใฝ่หาความรู้ในเรื่องการมีความสุขทั้งในด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพทางเพศสัมพันธ์มาโดยตลอด ได้อ่านเรื่องที่คุณหมอพูดถึงผู้ชายวัยทองเกี่ยวกับภาวะการขาดฮอร์โมนเพศชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เพื่อความรอบคอบให้หายสงสัย ผมจึงไปตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศที่โรงพยาบาล ผลออกมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผลตรวจเลือดก็ไม่พบเบาหวาน ไขมันในเลือด ตับ ไต ก็เป็นปกติดีทุกตัว เนื่องจากว่าผมต้องเดินทางอยู่เป็นประจำด้วยงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเองมากนัก และไม่ต้องการให้เกิดภาวะฮอร์โมนต่ำเร็วเกินไป ซึ่งจะส่งผลมาถึงอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตามมาได้

ผมจึงเขียนจดหมายมาถึงคุณหมอที่นับถือ เพื่อขอรับคำแนะนำจากคุณหมอถึงวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะทำให้ฮอร์โมนเพศลดลงช้าที่สุด เพื่อที่ผมจะได้มีความสุขได้นานที่สุดและนานตลอดไปทั้งในเรื่องสุขภาพร่างกายและมีความสุขได้อย่างยั่งยืนในการมีความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์ควบคู่ไปด้วยกันนะครับ
 
ด้วยความนับถือ
ส.สุขจริง

ตอบ คุณ ส.สุขจริง
ระดับฮอร์โมนเพศชายในผู้ชายนั้น จะมีความแตกต่างจากผู้หญิงคือในผู้ชายแม้ว่าจะมีอาการต่าง ๆ ที่แสดงออกมาว่าฮอร์โมนเพศชายต่ำ แต่ในร่างกายจะไม่หยุดสร้างฮอร์โมนเพศชายเลย ซึ่งต่างจากผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือที่เรียกว่าวัยทอง ร่างกายของผู้หญิงจะหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงทันที ซึ่งเมื่อผู้หญิงวัยทองมีอาการแสดงออกต่าง ๆ วิธีแก้ไขคือต้องได้รับการเสริมฮอร์โมนเพศทดแทน สำหรับผู้ชายนั้นสามารถฟื้นฟูประสิทธิภาพในการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้ ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง แต่ในผู้ชายสูงวัยที่มีการพร่องฮอร์โมนเพศชายที่แน่นอนก็จะมีการให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมอย่างต่อเนื่องยกเว้นในกรณีที่มีข้อห้ามก็จะไม่ใช้ฮอร์โมนเพศ เช่น ค่าพีเอสเอ (PSA) สูง หรือหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายนั้นสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตใหม่ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพร่างกายจากแพทย์ก็จะสามารถให้เกิดการบกพร่องก่อนวัยได้ช้าลง ซึ่งพบว่าชายอายุ 80 ปี ยังมีระดับฮอร์โมนเพศที่ปกติก็ยังมีวิธีเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ เพื่อให้หลับสนิทได้ตอนประมาณเที่ยงคืน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอซึ่งการออกกำลังกายจะกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ต้องทำอย่างน้อยวันละ 45 นาที หรือ 300 นาทีต่อสัปดาห์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด ลดอาหารไขมัน เลิกดื่มเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานไข่ ในไข่จะมีธาตุสังกะสี วิตามิน บีช่วยในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย รับประทานกะหล่ำปลีจากผลการวิจัยจาก Rockeller University พบว่าในกะหล่ำจะมีสารอินโดล-3 คาร์บินอล (indolo-3 carbinol) หรือ IC3 ช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ได้มากขึ้น รับประทานไขมันดี ได้แก่ ไขมันไม่อิ่มตัว พบมากในน้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันดอกทานตะวัน และโอเมก้า 3, 6, 9 ที่พบในปลา ถั่ว อโวคาโด อย่าลืมไข่ลวกวันละฟอง สารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมนเพศชาย ทำกิจกรรมที่ทำให้มีความตื่นเต้นและมีความสุข เช่น การดูกีฬาจะทำให้ฮอร์โมนเพศชายพุ่งสูงขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงภาวะเครียดต่าง ๆ ต้องคิดบวกมองทุกอย่างในแง่ดี จะได้ไม่เกิดภาวะซึมเศร้า จะทำให้หลับสนิทตลอดทั้งคืน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ชะลอการลดลงของระดับฮอร์โมนเพศ ชายควรมีการแข็งตัวให้ได้คะแนนแข็งตัวเกิน 20 ขึ้นไป หากไม่ถึงก็ควรให้แพทย์ฟื้นฟูการแข็งตัวของกล้ามเนื้อได้ ทำให้มีสุขภาพทางกายและใจที่ดี สามารถป้องกันการเกิดอาการอีดีจนซึมเศร้าได้อย่างดีเยี่ยม

ท่านที่มีคำถามหรือต้องการขอคำปรึกษาให้ส่งจดหมายมาที่ นสพ.เดลินิวส์ เลขที่ 1/4 ถนนวิภาวดีรังสิต หลักสี่ กทม. 10210 วงเล็บมุมซองด้วยว่าส่งต่อ ดร.คิว หรือให้โทรฯ ได้ที่เบอร์ 09-9494-3336, 08-1814-5441 Line ID : droclinic

.............................
ดร.คิว ลานทอง...