คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560

นอกจากโสมเกาหลี (Panax Ginseng) และโรดิโอลา โรซี (Rhodiola Rosea) ที่พูดถึงไปแล้วเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ยังมีทางเลือกธรรมชาติที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ได้แก่

ดีเอชอีเอ (DHEA) มีคำเต็มคือ Dehydroepiandrosterone 

ดีเอชอีเอเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ผลิตจากต่อมหมวกไต และเป็นฮอร์โมนในกลุ่มสเตียรอยด์ ที่มีมากที่สุดในร่างกาย แต่จะมีปริมาณน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ดีเอชดีเอสามารถเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนและเทสโทสเตอร์โรนในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ได้ผลิตดีเอชอีเอเป็นอาหารเสริมจากมันเทศป่าและถั่วเหลือง

มีการศึกษาที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการมี อายุของผู้ชายจากรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในเขตนิวอิงแลนด์ ในสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่าผู้ชายซึ่งมีโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะมีระดับดีเอชอีเอต่ำ และมีรายงานว่าอาสาสมัครซึ่งเป็นโรคหย่อนสมรรถ ภาพทางเพศจำนวน 40 ราย ครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครได้รับดีเอชอีเอจำนวน 50 มิลลิกรัม และครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอดวันละครั้งเป็นเวลา 6 เดือน ดูเหมือนว่าอาสาสมัครซึ่งได้รับยาดีเอชอีเอจะสามารถและคงการแข็งตัวขององคชาตได้

แอล-อาร์จินีน (L-Arginine) 

แอล-อาร์จินีนคือกรดอะมิโนธรรมชาติที่อยู่ในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตไนตริก ออกไซด์ (nitric oxide) ซึ่งจะช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว และเป็นผลช่วยให้ประสบความสำเร็จในการแข็งตัวขององคชาตได้ง่ายขึ้น นักวิจัยได้รายงานว่าร้อยละ 31 ของผู้ประสบปัญหาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศรับประทาน แอล-อาร์จินีน จำนวน 5 กรัมทุกวัน จะมีหน้าที่ทางเพศดีขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้พบว่าการรับประทานแอล-อาร์จินีนร่วมกับสารสำคัญที่สกัดได้จากเปลือกสนของต้นสนมาริไทม์ฝรั่งเศส (pynogenol) สามารถช่วยให้อาสาสมัครมีความสามารถทางเพศดีขึ้นร้อยละ 80 หลังการรักษา 2 เดือน และ ร้อยละ 92 อาการดีขึ้นหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว

การฝังเข็ม (acupuncture)

มีการศึกษาใช้หลายวิธีร่วมกัน และพบว่าการฝังเข็มสามารถทำให้อาการโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น การวิจัยพบว่าการแข็งตัวขององคชาตดีขึ้นร้อยละ 39 ของอาสาสมัคร

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

ทางเลือกการรักษาวิธีอื่น ๆ อาจรวมถึง

การรับประทานอาหารเสริมที่มีสังกะสี (Zinc) ถือเป็นเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการชนิดหนึ่ง ในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ โดยเกลือแร่หรือแร่ธาตุนั้นเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายโดยเฉพาะผู้ที่ขาดสังกะสี

สารสกัดโสมอินเดีย (เหง้า) (Ashwagandha extract)

สารสกัดจากใบของแปะก๊วย (Ginkgo biloba leaf extract) ถูกนำมาใช้เป็นยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร.

.......................................................
ศ.น.ท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล...