คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 24 พฤษภาคม 2560

การรักษาและผลการรักษา

การรักษาหลักคือมุ่งไปที่การทำลายเชื้อโรคที่ก่อให้เกิด โดยรวมถึงยาต้านจุลชีพเฉพาะที่ชนิดทาหรือใช้ยารับประทาน ดูแลตนเองให้มีสุขอนามัยดีขึ้นและการใช้น้ำยาทำความสะอาดบริเวณรอยโรคด้วยสบู่ฆ่าเชื้อเช้าเย็น เมื่ออาบน้ำอาจมีประโยชน์ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยใหม่ ๆ เช่นมีดโกนที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือบ่อย ๆ เป็นประจำ ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดแน่น ตัดเล็บสั้น ไม่เกา แกะ แคะ ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือรอยถลอก ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

ส่วนใหญ่จะสามารถรักษาแผลผู้ป่วยรูขุมขนอักเสบให้หายได้และไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ความล้มเหลวในการรักษาอาจเกิดจากไม่สามารถระบุจุลชีพที่เป็นสาเหตุ หรือเกิดปรากฏการณ์ของสายพันธุ์แบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา

การอักเสบที่หัวและหนังหุ้มปลายขององคชาต (Balanoposthitis) 

การอักเสบบริเวณหนังหุ้มปลายและส่วนหัวขององคชาตในผู้ป่วยชายซึ่งยังไม่ขลิบหนังหุ้มปลาย มีชื่อภาษาอังกฤษคือ โรคบาโลโนโพไททิส (balanoposthitis) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรียหรือเชื้อรา การติดเชื้อทั้งแบคทีเรียและเชื้อราแบบซับซ้อนร่วมกันอาจเกิดขึ้นได้

พยาธิสรีรวิทยา

การอักเสบบริเวณหนังหุ้มปลายและส่วนหัวขององคชาต มักพบในเด็กชายอายุน้อยกว่า 5 ปี ปัจจัยนำได้แก่หนังหุ้มปลายหดตัว ดึงรั้งไม่สามารถรูดลงได้ ( Phimosis) ส่วนใหญ่สาเหตุคือการแพ้ ระคายเคืองจากปัสสาวะที่ค้างอยู่หรือการสะสมของขี้เปียก ตลอดจนสุขอนามัยที่ไม่ดีในบริเวณนี้ จากการขาดสุขอนามัยนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีการติดเชื้อราร่วมด้วย ในชายที่มีอายุมาก สภาพนี้อาจมีสาเหตุอื่น ๆ รวมถึงอาการต่อไปนี้

การอักเสบที่ซอกหลืบรอยพับชนิดปราศจากเชื้อ (Intertrigo)

ผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง

การติดเชื้อราในกลุ่มแคนดิดา (Candida) และเชื้อราชนิดอื่นๆ

การติดเชื้อไวรัส

อาการแสดง/การวินิจฉัยทางคลินิก

ผู้ป่วยจะมาแสดงอาการด้วยผื่นแดง บวมและปวดในบริเวณหนังหุ้มปลายองคชาต ในกรณีที่มีความเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ในผู้ใหญ่ เช่น เที่ยวผู้หญิง ไม่ใช้ถุงยาง ก็อาจมีการติดเชื้อเพิ่ม ที่พบบ่อยคือ แผลเริม

การวินิจฉัยทางคลินิก แพทย์อาจจะส่งการตรวจสำหรับเชื้อรา โดยใช้น้ำยาโปรแตสเซียมไฮดรอกไซด์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าด่างคลี [KOH] หรือแม้แต่วิธีการตรวจวินิจฉัยไวรัสทางเซลล์วิทยา โดยการนำมาย้อมด้วยสี แซงค์ สเมียร์ (Tzanck test) คือการเก็บตัวอย่างเซลล์จากรอยโรค จะสามารถช่วยในการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องได้ ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อ

การวินิจฉัยแยกโรค

การวินิจฉัยแยกโรคที่สำคัญคือ การอักเสบที่ซอกหลืบรอยพับชนิดปราศจากเชื้อ (Intertrigo) ผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง การติดเชื้อราในกลุ่มแคนดิดา (Candida) และเชื้อราชนิดอื่น ๆ และการติดเชื้อไวรัส ในกรณีผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่และมีข้อสงสัยมะเร็งเช่น โรคอีริโธรเพลเซียของเควย์แรท (erythroplasia of Queyrat) ซึ่งมีลักษณะคล้ายปานแดงที่เกิดที่หัวขององคชาต มีขอบเขตชัดเจนและดูเป็นมัน รอยโรคค่อนข้างแข็งเมื่อเทียบกับเนื้อรอบข้าง ควรพิจารณาการตัดเชื้อบริเวณแผล อาจพบสาเหตุที่หายากได้แก่โรคบิดมีตัว (Amoebiasis) ซึ่งโดยปกติมักพบในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย สาเหตุเหล่านี้ควรจะสงสัยในกรณีผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและจำเป็น ต้องมีการตรวจวินิจฉัยสำหรับเชื้อโรคบิดมีตัวระยะที่สามารถก่ออาการได้เมื่ออยู่ในคน (Trophozoites).

.................................................
ศ.น.ท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล