ข่าวสุขภาพ

`น้ำเสาวรส` ลดการอักเสบในผู้สูงอายุ

เสาวรสเป็นผลไม้เขตร้อนที่สามารถรับประทานผลสดได้ ทางการแพทย์เสาวรสมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ ใบจะมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ และฮาร์แมน ใช้ลดความดันโลหิต ดอกมีฤทธิ์เป็นยาระงับประสาทอย่างอ่อน ช่วยให้นอนหลับ เสาวรสมีวิตามินเอสูง ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด แก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีแคโรทีนอยด์และวิตามินซีสูงกว่ามะนาว ที่สำคัญสารสกัดจากเสาวรสมีฤทธิ์ช่วยต้านมะเร็ง

          ที่ผ่านมา ยังมีรายงานเกี่ยวกับเสาวรสในเรื่องผลของการบริโภคต่อสุขภาพผู้สูงอายุไม่มากนัก ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง "ผลของน้ำเสาวรสต่อการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบในผู้สูงอายุ" มี ดร.ศุภวัชร สิงห์ทอง สังกัดคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหัวหน้าศึกษาสารออกฤทธิ์ของเสาวรสชนิดเปลือกสีม่วงและสีเหลืองในหลอดทดลอง และศึกษาผลการดื่มน้ำเสาวรสต่อความสามารถต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ

          ดร.ศุภวัชรเปิดเผยว่า เมื่อนำเสาวรสชนิดเปลือกสีเหลืองและสีม่วงมาสกัดด้วยน้ำ และ 80% เอทานอล แล้วตรวจหาสารออกฤทธิ์สำคัญ พบว่าเสาวรสทั้ง 2 ชนิด มีสารรูติน (สารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติผลึกสีเหลือง) ไพโรแกลลอล (สารประกอบฟีนอลชนิดหนึ่ง) และกรดแกลลิก และพบว่า เสาวรสเปลือกสีเหลืองที่สกัดด้วย 80% เอทานอล มีปริมาณฟีนอลิกสูงที่สุด ยับยั้งอนุมูลไฮดรอกซีได้ดีที่สุด ส่วนเสาวรสเปลือกสีม่วงที่สกัดด้วย 80% เอทานอล มีฟลาโวนอยด์และมีฤทธิ์กำจัด ไนตริกออกไซด์สูงที่สุด เสาวรสเปลือกม่วงที่สกัดด้วยน้ำกลั่นมีฤทธิ์กำจัดไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์สูงที่สุด

          สำหรับการศึกษาในผู้สูงอายุพบว่า ชายและหญิงสูงอายุ ที่ดื่มน้ำเสาวรสเปลือกม่วงและเปลือกเหลือง มีตามินซีในซีรัมลดลงหลังการดื่มอย่างมีนัยทางสถิติ ส่วนฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยรวมพบว่า ในหญิงสูงอายุมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น เมื่อดื่มน้ำเสารสทั้งสองชนิด ขณะที่ปริมาณไซโตไคน์ ซึ่งเป็นสารสื่อกลางการอักเสบลดลงในชายสูงอายุ ที่ดื่มน้ำเสาวรสทั้งสองชนิดและในหญิงสูงอายุที่ดื่มน้ำเสาวรสเปลือกม่วง และปัจจัยที่เป็นเนื้อร้าย เนื้องอกลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญในชายสูงอายุ ที่ดื่มน้ำเสาวรสเปลือกสีเหลืองและหญิงสูงอายุที่ดื่มน้ำเสาวรสเปลือกม่วง ตรงกับการศึกษาว่า สารฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

          งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านผลไม้ไทย เพื่อนำมาช่วยส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ประชาชนปลูกและบริโภคเสาวรสกันมากขึ้น