คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 15 มิถุนายน 2562

เมื่อกล่าวถึงฮอร์โมนในผู้ชายตัวที่สำคัญที่สุด ก็คือ ฮอร์โมนเพศชาย เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้น การเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงตามอายุของอวัยวะสืบพันธุ์ มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ให้มีลักษณะที่แสดงความเป็นผู้ชายดังนี้ หน้าอกและไหล่กว้างขึ้น มีหนวดเครา หน้าผากกว้างขึ้นหรือเถิก ผิวหนังทั่วไปจะมีขนขึ้น มีการสร้างไขมันจากต่อมไขมัน ทำให้เกิดสิวได้ง่าย กล่องเสียง และลูกกระเดือกใหญ่ขึ้น มีความแข็งแรง มีการเปลี่ยนแปลงทางสมองและจิตใจ มีความคิดริเริ่ม มีนิสัยใจคอก้าวร้าว และมีความต้องการทางเพศ เป็นต้น

ในผู้ชายฮอร์โมนเพศจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และเริ่มสร้างมากขึ้นในช่วงของวัยรุ่นจนเป็นหนุ่ม จากนั้นก็จะมีอยู่คงที่ในช่วงวัยผู้ใหญ่จนอายุประมาณ 40-45 ปี การสร้างฮอร์โมนเพศชาย ก็จะช้าลง เนื่องจากอัณฑะซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศทำงานลดลง นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศชายอิสระยังถูกโปรตีนในกระแสเลือดจับเพิ่มมากขึ้นทำให้มีฮอร์โมนเพศทำงานได้น้อยลง จนเกิดเป็นสภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย

ระดับเทสโทสเตอโรนต่ำ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของไขมันในเลือดเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการกระจายตัวของไขมันมักจะรวมอยู่ที่บริเวณหน้าท้อง และอวัยวะภายในช่องท้อง ทำให้มีลักษณะท้องโตคล้ายลูกแอปเปิ้ล หรือที่เรียกว่าลงพุง เกิดอาการร้อนวูบวาบตามร่างกายในการหลั่งน้ำอสุจิลดลง ชีวิตไม่รื่นรมย์หมดเรี่ยวแรงไม่กระฉับกระเฉง

ที่น่าตกใจที่สุดคือ สมรรถภาพทางเพศลดลงอวัยวะเพศไม่แข็งตัว หดเล็กลง ความต้องการทางเพศลดลง จนไม่มีความต้องการทางเพศซึ่งพบบ่อยมากในชายวัย 50 ปีขึ้นไปผลดีของการให้ ฮอร์โมนเพศชายทดแทน คือทำให้กระดูกมีความหนาแน่นขึ้นไป ป้องกันภาวะกระดูกพรุนกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ลดไขมันส่วนเกิน (ลงพุง) ทำให้ความจำและอารมณ์ดีขึ้น ลดอาการซึมเศร้า ทำให้มีความรู้สึกและความต้องการทางเพศดีขึ้น ก่อนการเสริมฮอร์โมนเพศทดแทน ต้องเข้ารับการวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายด้วยการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สิ่งสำคัญคือ การตรวจต่อมลูกหมากถ้าผลตรวจเป็นปกติ การใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนถือว่ามีความปลอดภัยสูง ซึ่งการรักษาทำได้โดยการให้ฮอร์โมนเสริมในรูปแบบการรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือทาที่ผิวหนังซึ่งควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์

หากคุณผู้ชายกำลังมีปัญหาเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อจะได้กลับมาเป็นหนุ่มทั้งทางใจและทางกายอีกครั้งและควรมีการตรวจร่างกายและตรวจเลือดเป็นประจำระหว่างที่ได้รับฮอร์โมนเพศทดแทนโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด.
................
ดร.อุ๋มอิ๋ม