คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 28 เมษายน 2564

ยาที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอด ยารับประทานเป็นสาเหตุซึ่งพบบ่อยที่สุดของความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอด ยารับประทานที่ทราบว่ามีผลต่อการทํางานของการถึงจุดสุดยอดรวมถึง ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคจิตเภท ยารักษาโรควิตกกังวล ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโตโดยลดขนาดต่อมลูกหมาก (ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์ที่รับผิดชอบในการเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชาย) และ สารโอปิเอต ซึ่งคือยาหรือสารที่ใช้ทำยาประเภทยาแก้ปวดและยานอนหลับ โอปิเอตเป็นผลิตผลจากฝิ่น ได้แก่ มอร์ฟีน โคเดอีน และเฮโรอีน

มีงานวิจัยเปิดเผยพบว่ามียาทั้งหมด 16 รายการซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้มีความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอด กับความเสี่ยงของความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอดตั้งแต่ระหว่าง < ร้อยละ 1 และร้อยละ10 ตามชนิดของยา ยาทั้งหมดที่ระบุว่าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าหรือยารักษาโรคจิตเภท ในการศึกษาผู้ชายมากกว่า 2,000 คนที่ได้รับยารักษาโรคซึมเศร้าชนิดเอสเอสอาร์ไอ (serotonin reuptake inhibitors : SSRI เป็นกลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง) นำไปสู่ความเสี่ยงของการถึงจุดสุดยอดล่าช้าเพิ่มขึ้นเจ็ดเท่า

ยาเมทาโดน (Methadone) เป็นยาโอปิออยด์หรือยาระงับอาการปวดที่ออกฤทธิ์ต่อสมองและไขสันหลัง ช่วยยับยั้งอาการเมาที่เกิดจากการใช้สารเสพติด เช่น เฮโรอีน รวมทั้งใช้ลดความอยากและอาการถอนยาเสพติด บำบัดผู้ที่ติดยา มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของการถึงจุดสุดยอดในผู้ป่วยซึ่งต้องทานยาตลอดการบำบัดรักษาเพื่อคงสภาพ

ยารักษาต่อมลูกหมากโต เพื่อลดขนาดต่อมลูกหมาก ชนิดกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ที่รับผิดชอบในการเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงการมีเพศสัมพันธ์มากมาย รวมถึงความผิดปกติของการถึงจุดสุดยอด มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผลข้างเคียงของยาดังกล่าว ประกอบด้วย การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ การสูญเสียความใคร่และการเปลี่ยน แปลงของการหลั่งน้ำอสุจิ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 15 ของผู้ป่วยหลังการรับประทานยาดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งปี ผลข้างเคียงด้านการถึงจุดสุดยอดและทางเพศอาจขยายไปนานถึงแม้หยุดรับประทานยาแล้ว ในการวิเคราะห์ผู้ชายที่มีความผิดปกติทางเพศอย่างต่อเนื่อง หลังจากใช้ยาดังกล่าว ร้อยละ 68 รายงานว่าถึงจุดสุดยอดผิดปกติอย่างต่อเนื่องหลังหยุดยาแล้วก็ตาม.

---------------------------------------------
ศ.น.ท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล