คอลัมน์ “เสพสม”

เสพสมบ่มิสม วันที่ 29 มิถุนายน 2559

ยาฟลิแบนเซริน (Flibanserin) ช่วยสุขภาพทางเพศของผู้หญิง (1)

โรคความต้องการทางเพศต่ำในผู้หญิง (hypoactive sexual desire Dysfunction : HSDD) เป็นโรคหนึ่งของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิง (Female sexual dysfunction)  

หมายถึงภาวะที่ไม่มีความต้องการทางเพศ ไม่สนใจในการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเป็นตลอดหรือกลับมาเป็นใหม่ หรืออาจเป็นมาตั้งแต่สาว 

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะดังกล่าวเช่น ความเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า การดื่มสุราหรือการใช้สารเสพติด และรวมทั้งโรคประจำตัวต่าง ๆ โรคความต้องการทางเพศต่ำในผู้หญิงอาจทำให้เกิดความเครียดต่อผู้ป่วยเองและรวมทั้งคู่นอน

อย่างไรก็ตามแนวทางปฏิบัติหรือการรักษาโรคความต้องการทางเพศต่ำในผู้หญิงยังไม่มี เนื่องจากถือว่าเป็นโรคที่ยังใหม่อยู่ทางการแพทย์  แต่มีการรักษาหลายอย่างที่เป็นไปได้ เช่น การรักษาด้วยการบำบัดทางเพศ (sex therapy) การใช้ยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในผู้หญิง และการรับประทานยา

เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว (พ.ศ. 2558) องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติยาชื่อ ฟลิแบนเซริน (Flibanserin) หรือเป็นที่รับทราบว่าเป็น “ยาไวอากร้าของผู้หญิง” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ายาฟลิแบนเซรินเป็นยาอันดับแรกในการรักษาโรคความต้องการทางเพศต่ำในผู้หญิง และยังมียาอีกหลายชนิดรอการอนุมัติอยู่  

หลังจากนั้นแพทย์เริ่มมีประสบการณ์ในการใช้ยาฟลิแบนเซรินมากขึ้น รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อช่วยปฏิรูปแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์  สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังองค์การอาหารและยาอนุมัติยาเม็ดฟลิแบนเซรินหรือยาชนิดอื่น ๆ คือ

อาจทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในการรักษาปัญหาทางเพศของผู้หญิง เพราะจะเป็นยาชนิดเดียวที่สามารถหาได้ในการรักษาความต้องการทางเพศต่ำในผู้หญิง ซึ่งจะมีตัวอย่างของผู้ชายที่เกิดขึ้นแล้วสำหรับยาพีดีอี-5 ชนิดซิลเดนาฟิล (sildenafil) ซึ่งมีชื่อการตลาดว่า “ยาไวอากร้าสำหรับผู้ชาย” ตลอดจนสูตินรีแพทย์จะมามีบทบาทมากขึ้นในการรักษาทางเพศมากขึ้น

ยาใหม่ชื่อฟลิแบนเซรินจะถูกวางขายในตลาดด้วยรูปแบบของยาเม็ดเล็กสีชมพูซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของยาไวอากร้า ซึ่งเป็นเม็ดสีฟ้าคู่กัน ซึ่งมีเป้าหมายตรงกันข้ามคือเป็นผู้ชาย

ประวัติยาฟลิแบนเซริน

ยาฟลิแบนเซรินได้กลับมาเป็นข่าวดังอีกครั้งหนึ่งเมื่อคณะกรรมการที่ปรึกษาขององค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลงมติในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 สำหรับการอนุมัติยาฟลิแบนเซรินภายใต้เงื่อนไขบางประการ   อย่างไรก็ตามองค์การอาหารและยาอาจไม่อนุมัติการวางตลาด ถ้ายาดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำหรือแนวทางของคณะกรรมการที่ปรึกษาขององค์การอาหารและยา

องค์การอาหารและยาได้เคยตอบปฏิเสธการอนุมัติยาฟลิแบนเซรินดังกล่าวมาแล้วถึงสองครั้งเมื่อปีพ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2556 และกล่าวถึงผลประโยชน์ของยาดังกล่าวถูกครอบงำจากแนวโน้มของผลข้างเคียงซึ่งไม่ต้องการอาจเกิดขึ้นได้แก่ คลื่นไส้ เป็นลม หมดสติ เวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำและง่วงนอน.

........................................................
รศ.นท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล...